สรุปสาระของคำสั่งหมายเลข 1/2013 และ 11/2013

สรุปสาระของคำสั่งหมายเลข 1/2013 และ 11/2013

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ก.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 7,351 view

กฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจากต่างประเทศ (ปี ค.ศ. ๒๐๑๓)

         

          เมื่อวันที่ ๓๑ ม.ค. ๕๖ Myanmar Investment Commission ได้ออกคำสั่ง ๒ ฉบับ กำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ (ฉบับวันที่ ๒ พ.ย. ค.ศ. ๒๐๑๒) ดังนี้

                  
                   ๑. คำสั่งหมายเลข ๑/๒๐๑๓ กำหนดรายละเอียดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ ที่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติดำเนินการในเมียนมาร์ หรือให้ดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด สรุปได้ดังนี้

                             ๑.๑ สาขาที่ห้ามต่างชาติดำเนินการ ๒๑ สาขา ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ กิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยของประชาชน รวมถึงสาขาที่เป็นผลประโยชน์หลักของชาติ เช่น การสำรวจ ทดสอบและผลิตอัญมณี การทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ทางเดินเรือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการผลิตโลหะ การแจกจ่ายและขายกระแสไฟฟ้า และสื่อสิ่งพิมพ์ในภาษาเมียนมาร์ เป็นต้น

                             ๑.๒ สาขาที่ต่างชาติต้องดำเนินกิจการร่วมกับบริษัท/ชาวเมียนมาร์ในรูปแบบ joint venture รวม ๔๒ สาขา อาทิ การผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผสม อาหารที่มีส่วนประกอบของธัญพืช อาหารกระป๋อง เครื่องดื่ม น้ำแข็ง น้ำดื่ม พลาสติก รองเท้า กระเป๋าที่ทำจากหนังแท้   กระดาษผลิตภัณฑ์เคมีจากธรรมชาติ สารไวไฟ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (สะพาน ถนน สะพานลอย ทางใต้ดิน)  สนามกอล์ฟ/รีสอร์ตมาตรฐานสากล อสังหาริมทรัพย์ การบริการขนส่งทางอากาศทั้งในและต่างประเทศ และการท่องเที่ยว เป็นต้น    

                             ๑.๓ สาขาที่อนุญาตให้ต่างชาติดำเนินกิจการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด  อาทิ 

                                      ๑.๓.๑ ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับกิจการดังกล่าว 

                                      ๑.๓.๒กำหนดให้ต้องร่วมทุนกับรัฐบาลเท่านั้น อาทิ บริการเดินเรือทะเลของต่างชาติ การขนส่งทางเรือในประเทศ เหมืองถ่านหิน การก่อสร้างอาคารและบริการที่เกี่ยวข้อง กิจการที่เกี่ยวกับแร่หายาก แร่ยุทธศาสตร์ และอัญมณี

                                      ๑.๓.๓ กำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสากล เช่น  มาตรฐาน ASEAN MRA (การออกแบบก่อสร้างอาคาร โรงงาน การผลิตวัสดุก่อสร้างแบบ pre-fabrication) มาตรฐาน GAHP GMP  HACCP ในกิจการด้านปศุสัตว์ ยา

                                      ๑.๓.๔ กำหนดให้ต้องผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (PES EIA SIA) ในกิจการเหมืองแร่ การสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การก่อสร้างขนาดใหญ่ การผลิตรถยนต์/ต่อเรือ เคมี กระดาษ ซีเมนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ไฟฟ้า ฯลฯ 

                                      ๑.๓.๕ กำหนดให้ทำในรูป Build Operate Transfer (BOT) เท่านั้น อาทิ การก่อสร้างอาคารพาณิชย์/สำนักงานให้เช่าขนาดใหญ่ที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด และการผลิตและขายพลังงานไฟฟ้าที่ใช้พลังงานน้ำและถ่านหิน

                                      ๑.๓.๖ กำหนดสัดส่วนวัตถุดิบในประเทศที่ต้องใช้ เช่น การผลิตน้ำมันจากพืชและสัตว์ เครื่องดื่ม บุหรี่ น้ำหอม เครื่องสำอางค์

                                      ๑.๓.๗ กำหนดสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติและคนเมียนมาร์  อาทิ

                                                - กิจการป่าไม้ ให้ต่างชาติถือหุ้นไม่เกินร้อยละ ๒๕-๔๕

                                                - การผลิตวารสาร/นิตยสารเฉพาะทางที่เป็นภาษาต่างประเทศ  คนเมียนมาร์ต้องถือหุ้นร้อยละ ๕๑และ ๒ ใน ๓ ของพนักงานหลักๆ ต้องเป็นชาวเมียนมาร์                                 

                                                -กิจการสปา ต่างชาติสามารถถือครองกิจการได้ร้อยละ ๑๐๐ เฉพาะในการดำเนินกิจการโรงแรมระดับ ๓ ดาวขึ้นไป

                                                - กิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ ชาวพม่าต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๔๐

                                      ๑.๓.๘ กำหนดระยะเวลาอนุญาตการประกอบการ เช่น การทำเหมืองแร่ขนาดใหญ่อนุญาต 15 ปี ต่ออายุได้ ๔ ครั้งๆ ละ ๕ปี การเลี้ยงหอยมุกอนุญาต ๑๕ ปี ต่ออายุได้ ๒ ครั้งๆ ละ ๕ ปี

                                      ๑.๓.๙ กำหนดช่วงเวลาให้เริ่มดำเนินการ เช่น กิจการค้าปลีกขนาดใหญ่จะเริ่มดำเนินการได้ภายหลังปี ๒๕๕๘ เท่านั้น (นอกเหนือจากเงือนไขการร่วมทุนกับชาวพม่า)

                   ๒. คำสั่งหมายเลข ๑๑/๒๐๑๓ เรียกว่า Foreign Investment Rulesกำหนดรายละเอียดขั้นตอนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายการลงทุนต่างชาติ (Foreign Investment Law)  โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

                             ๒.๑ กำหนดให้คณะกรรมการMyanmar Investment Commission (MIC) มีหน้าที่กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ FILตามประเภทของกิจการโดยระบุว่ากิจการใดเป็นประเภทต้องห้ามสำหรับชาวต่างชาติ (prohibited) ประเภทจำกัด (restricted) ซึ่งต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือต้องดำเนินการในลักษณะร่วมทุน (JV)  รวมทั้งมีอำนาจในการปรับปรุงแก้ไขกิจกรรมทางเศรษฐกิจและแจ้งประกาศให้ทราบเป็นระยะๆ นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการกำหนดเขตพื้นที่การผลิต และพิจารณาข้อเสนอโครงการในกิจการต้องห้ามหรือจำกัดสำหรับชาวต่างชาติ และอนุมัติการออกใบอนุญาตประกอบการอีกด้วย

                             ๒.๒ กำหนดรูปแบบการลงทุน  ๓ รูปแบบ ได้แก่  (๑) ต่างชาติลงทุนร้อยละ ๑๐๐           (๒) จัดตั้ง joint venture กับเอกชนเมียนมาร์ และ (๓) การร่วมลงทุนในรูปแบบ Build, Operate, Transfer (BOT) 

                             ๒.๓กำหนดรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการ MIC ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของกรรมการ   คนละ ๓ ปี และประชุมเดือนละ ๒ ครั้ง

                             ๒.๔ กำหนดขั้นตอนการพิจารณาโครงการ ตั้งแต่การเสนอโครงการเอกสารประกอบ ช่องการเสนอ (ผ่านกระทรวงที่เกี่ยวข้องหรือ MIC โดยตรง) โดยมีขั้นตอนดังนี้

                                      -  ประชุม Proposal Review Group ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ ประชุมสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง  ตรวจสอบข้อเสนอโครงการเบื้องต้น โดยผู้เสนอโครงการเข้าร่วมในการพิจารณาด้วย   หากเห็นชอบก็นำเสนอต่อ MIC พิจารณาต่อไป

                                      -  MIC ขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยกำหนดระยะเวลาตอบรับที่แน่นอน แล้วเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในโอกาสแรก หากได้รับอนุญาต จะออกใบอนุญาตภายใน ๙๐ วัน

                                      -  ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องไปดำเนินโครงการก่อสร้างและเริ่มการผลิตตามระยะเวลาที่กำหนด

                             ๒.๕ นอกจากนี้ คำสั่งฉบับนี้ยังกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขในการกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง การขยายเวลา การให้เช่าช่วง/จำนองที่ดิน/อาคารที่ได้รับอนุมัติการลงทุน  การขายหุ้นแก่ชาวต่างชาติหรือชาวเมียนมาร์  การทำประกันภัย การจ้างพนักงาน การขอรับการยกเว้นต่างๆ อาทิ ภาษี การนำเงินทุนเข้า-ออกประเทศ การโอนเงินตราต่างประเทศ  บทลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามระเบียบ และการแก้ไขข้อพิพาทอีกด้วย

 

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับความอนุเคราะห์คำแปลภาษาอังกฤษอย่างไม่เป็นทางการของคำสั่งหมายเลข ๑/๒๐๑๓ และคำสั่งหมายเลข ๑๑/๒๐๑๓ จาก บริษัท LS Horizon Limited

 

ที่อยู่ในประเทศไทย

14 fl. GFP Witthayu Tower A, 93/1 Wireless road, Lumpini, Phatumwan, Bangkok, Thailand10330  

http://www.lshorizon.com/  

 

ที่อยู่ในเมียนมาร์

No. 271, 6th Floor, Shwegondine Road (Middle) Shwegondine Quarter, Bahan Township, Yangon, Republic of the Union of Myanmar 11201

Tel: (+95) 1 - 860 3172

Fax: (+95) 1 - 860 3171

http://www.lshorizon.com/contactus-myanmar.html

********************

สอท. ณ กรุงย่างกุ้ง

๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖