การแก้ไขปัญหาความยากจน

การแก้ไขปัญหาความยากจน

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ส.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 12,099 view

การแก้ไขปัญหาความยากจน

รัฐบาลเมียนมาร์ให้ความสำคัญลำดับต้นต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในชนบท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของประชากรเมียนมาร์ทั้งหมด ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อการพัฒนาชนบทและลดความยากจน (Central Committee for Rural Development and Poverty Alleviation) ที่มีประธานาธิบดี เต็ง เส่ง เป็นประธาน รวมถึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับรัฐ (States) และระดับภาค (Regions) ครอบคลุม ๓๓๐ อำเภอ (Townships) และ ๘๒ ตำบล (Sub-townships) อีกทั้ง คณะทำงานย่อยต่างๆ อีกด้วย คณะทำงานกลางได้รับรองแผนการปฏิบัติงานเพื่อการพัฒนาชนบทและลดความยากจน โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินการ ๔ ปี ตั้งแต่ ๑ ก.ค. ๕๔ – ๓๑ ธ.ค. ๕๘ โดยแผนงานได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาในด้านต่างๆ ๘ ด้าน ได้แก่ ๑) ภาคการเกษตร ๒) ภาคปศุสัตว์และประมง ๓) ภาคอุตสาหกรรมในครัวเรือนในชนบท ๔) การออมระดับรากหญ้า (micro saving) และสถาบันให้สินเชื่อวงเงินกู้ต่ำสำหรับคนยากจน (micro credit enterprises) ๕) สหกรณ์ในชนบท ๖) การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในชนบท ๗) การพัฒนาพลังงานในชนบท และ ๘) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมุ่งที่จะลดความยากจนให้ได้ตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) ที่อัตราร้อยละ ๑๖ ภายในปี ๕๘

เมื่อวันที่ ๗ ก.ค. ๕๔ รัฐบาลได้จัดตั้ง Subcommittee for Development of Microfinance Institutions รัฐบาลได้เพิ่มวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรเป็นสองเท่าจากเดิม และเมื่อวันที่ ๒๙ ส.ค. ๕๔ สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินชุมชนระดับย่อย (Microfinance Bill) แล้ว โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นไปเพื่อจัดระบบเบียบของสถาบันการเงินเหล่านี้ อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนในชุมชนเข้าถึงเงินกู้ได้อย่างทั่วถึง อันเป็นปัญหาสำคัญของพม่าที่ผ่านมา รวมถึงจะพัฒนาอุตสาหกรรมสถาบันการเงินชุมชนระดับย่อยด้วย (micro finance industry)

ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานย่อยที่สำคัญอีกคณะ คือ Rural Socio Economic Development Subcommittee  ซึ่งได้กำหนดแผนปฏิบัติงานใน ๖ สาขา ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การขนส่ง การสื่อสาร และการให้บริการน้ำดื่มอย่างทั่วถึง