วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ย. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
กฏหมาย: กฏหมายการจ้างงานและการพัฒนาฝีมือ ๒๐๑๓
หลังจากกฏหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นายจ้างที่มีลูกจ้างจะต้องทำสัญญาจ้างงานเป็นหนังสือภายใน ๓๐ วัน นอกเสียจากกรณีการจ้างงานถาวรของหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบาล หรือกรณีฝึกงานก่อนรับเข้างาน หรือกรณีการทดลองงาน หรือกรณีของการจ้างงานก่อนหน้ากฏหมายฉบับนี้บังคับใช้
กฏหมายกำหนดให้หนังสือสัญญาจ้างงานดังกล่าวจะต้องมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ด้วย ได้แก่ ประเภทของการจ้างงาน ระยะเวลาทดลองงาน ค่าจ้าง สถานที่ทำงาน เงื่อนไข จำนวนชั่วโมงทำงาน วันหยุดวันลา การทำงานล่วงเวลา การจัดหามื้ออาหารให้ระหว่างเวลางาน ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การเดินทางไปทำงานและที่อื่น ข้อบังคับการทำงาน เพดานชั่วโมงการทำงานต่อเนื่องหลังจากการฝึกงานที่ลูกจ้างยินยอม การลาออกและเลิกจ้าง การเลิกสัญญาฝ่ายเดียว การเลิกสัญญาสองฝ่าย หน้าที่ตามสัญญา การแก้ไขเพิ่มสัญญา และข้อสัญญาอื่นๆ ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ต้องไม่ด้อยกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้
นายจ้างยังมีหน้าที่ในการส่งสำเนาสัญญาจ้างงานนั้นให้กับศูนย์การจ้างงานและแลกเปลี่ยนแรงงาน (Employment and Labor Exchange Office) เพื่อขออนุมัติการจ้างงานนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด (ยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาดังกล่าว)
ในกรณีลูกจ้างได้ทำงานสำเร็จก่อนกำหนดในสัญญา หรือในกรณีที่การจ้างงานนั้นถูกยกเลิกด้วยเหตุที่มิได้คาดไว้ล่วงหน้า (ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด) หรือในกรณีเลิกจ้างด้วยเหตุอื่น นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชย ตามกฎที่ออกโดยกระทรวงแรงงานและประกันสังคม (Ministry of Labor, Employment and Social Security) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎดังกล่าว
นอกจากนี้ นายจ้างมีหน้าที่จัดการฝึกหัดพัฒนาแรงงานอย่างเป็นระบบตามที่คณะทำงานตามกฎหมายได้กำหนดไว้ และมีหน้าที่นำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานตามกฎหมายฉบับนี้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๐.๕ ของค่าแรงในแนต่ละเดือน โดยไม่หักจากค่าแรงหรือเงินเดือนของลูกจ้าง ทั้งนี้ หากนายจ้างขาดส่งเงินเข้ากองทุนดังกล่าว นายจ้างจะถูกเรียกเก็บเงินค้างส่งนั้นในลักษณะเดียวกับภาษีค้างชำระ
กฎหมายการจ้างงานและการพัฒนาฝีมือแรงงาน ๒๐๑๓
ประเภท : กฎหมายแรงงาน
ผู้ตรา : รัฐสภา
ผู้ประกาศใช้ : ประธานาธิบดี
วันที่ประกาศใช้ : ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖
วันที่บังคับใช้ : ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
จำนวนมาตรา : ๔๒ มาตรา
หมวดที่ปรากฏ : ๑. ชื่อและบทนิยาม
๒. การจัดหางานและจัดจ้าง
๓. สัญญาจ้างแรงงาน
๔. คณะทำงานการจ้างงานและการพัฒนาฝีมือแรงงาน (แรงงาน)
๕. การพัฒนาฝีมือแรงงานและโครงการฝึกอบรม
๖. การจดทะเบียนและการจัดตั้งโรงเรียนฝึกอบรมและกรมการประเมินฝีมือ (แรงงาน)
๗. การแข่งขันฝีมือ
๘. การตั้งและการใช้กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน
๙. ความผิดและบทลงโทษ
๑๐. ข้อกำหนดอื่นๆ
--------------------------
ที่มาของข้อมูล : LS Horizon (Myanmar) Limited