วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,229 view

ในกรณีที่เมียนมาร์ประสบวิกฤติการณ์ภายในประเทศอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการณ์ทางการเมือง หรือจากภัยธรรมชาติ รัฐบาล และสถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมที่จะเข้ามาดูแลชีวิต และสวัสดิภาพของคนไทยทุกคนในเมียนมาร์ให้ได้รับความปลอดภัย

สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จำแนกสถานการณ์ความฉุกเฉินในเมียนมาร์ออกเป็น 4 ระดับ และในแต่ละระดับความฉุกเฉินได้มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคนไทย ดังต่อไปนี้

1. สถานการณ์ความฉุกเฉินระดับสีเขียว คือสถานการณ์ปกติ การปฏิบัติตัวของคนไทยในชั้นนี้ คือ

-    ดำเนินชีวิตตามปกติ

-    ติดตามสถานการณ์โดยทั่วไป

-    เตรียมเอกสารสำคัญต่างๆ ติดตัวเอาไว้ อาทิ หนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารทางการเงิน เป็นต้น

-    แจ้งชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ ของตนเอง และบุคคลในครอบครัวรวมทั้งของญาติในประเทศไทยให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ทราบ

-     เตรียมการต่างๆ ที่เห็นว่าจำเป็น หากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ หมายเลขโทรศัพท์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ โรงพยาบาล สถานีตำรวจ เพื่อนคนไทย

2. สถานการณ์ความฉุกเฉินระดับสีเหลือง คือ เริ่มมีข่าวความไม่สงบเกิดขึ้นแต่รัฐบาลเมียนมาร์ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ การดำเนินชีวิตโดยทั่วไปยังปกติ การปฏิบัติตัวของคนไทยในชั้นนี้ คือ

-     ระมัดระวังตัว ไม่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีปัญหา หรือเดินทางในยามวิกาล

-     รวบรวมบุคคลในครอบครัวให้อยู่ในที่พัก

-     สำรองอาหาร เครื่องดื่ม ไว้ให้เพียงพอ

-     ติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ

-     ติดต่อประสานงานกับคนไทย

-     เตรียมยานพาหนะไว้ให้พร้อมใช้เสมอ

-     รับฟังประกาศการเปลี่ยนแปลงสถานะความฉุกเฉินจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ทั้งทางโทรศัพท์ โทรสาร อีเมล์ หรือจากโทรทัศน์ของไทย

3. สถานการณ์ความฉุกเฉินระดับสีส้ม คือเกิดความไม่สงบเป็นระยะ และมีแนวโน้มขยายวงกว้าง รัฐบาลเมียนมาร์เริ่มสูญเสียความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ การดำเนินชีวิตเริ่มได้รับผลกระทบ การคมนาคมระหว่างประเทศเริ่มได้รับผลกระทบ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะแจ้งให้คนไทยที่ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในประเทศ เดินทางออกจากเมียนมาร์ให้มากที่สุด โดยใช้ช่องทางปกติ การปฏิบัติตัวของคนไทยในสถานการณ์เช่นนี้ คือ

-     ส่งเด็ก และผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษกลับประเทศ ในขณะที่ยังสามารถใช้บริการสายการบินได้

-     เคลื่อนย้ายครอบครัวไปยังจุดรวบรวมคนไทยภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปยังจุดรวบรวมคนไทยได้ตามกำหนดให้รีบแจ้งสถานเอกอัครราชทูตฯ ทราบโดยเร็ว

-     รับฟังประกาศการเปลี่ยนแปลงสถานะความฉุกเฉิน และวัน เวลาที่จะทำการอพยพจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ทางโทรศัพท์ โทรสาร อีเมล์ หรือจากรายการข่าวจากโทรทัศน์ของไทย

4. สถานการณ์ความฉุกเฉินระดับสีแดง คือ  เกิดความไม่สงบขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายวงกว้าง เกิดสภาวะขาดแคลนอาหารและสิ่งของจำเป็น มีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รัฐบาลเมียนมาร์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ การดำเนินชีวิตได้รับผลกระทบมากขึ้น การคมนาคมระหว่างประเทศไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ขอบเขตจำกัด สถานเอกอัครราชทูตฯ จำเป็นจะต้องอพยพคนไทยออกจากเมียนมาร์ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด แล้วปิด         สถานเอกอัครราชทูตฯ การปฏิบัติตัวของคนไทย คือ เคลื่อนย้ายออกจากจุดรวบรวมคนไทยไปยังพื้นที่อพยพ เพื่อรอการอพยพ ทั้งโดยทางเครื่องบิน หรือทางเรือ

          สิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการอพยพ

1. หนังสือเดินทางไทย

2. เอกสารแสดงตน อาทิ บัตรประชาชนไทย สำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส (กรณีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ)

สูติบัตรไทยของบุตร (กรณีบุตรถือสัญชาติอื่นด้วย)

3. เอกสารอื่นๆ ที่จำเป็น อาทิ F.R.C., D-Form (หากมี)

4. สิ่งของเครื่องใช้ และยารักษาโรคประจำตัวที่จำเป็น บรรจุลงในกระเป๋าขนาดพกพา 1 ใบ


จุดรวบรวมคนไทย

1. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง

2. สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร (เฉพาะกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ)

3. สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ

4. สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ

5. สำนักงานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

6. สำนักงานบริษัท ซีพี

7. สนามกอล์ฟ Pun Hlaing

8. โรงแรม Chatrium (กรณีนักท่องเที่ยวไทย)

พื้นที่อพยพ  ห้องรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานกรุงย่างกุ้ง

พื้นที่อพยพ  (แผนสำรอง) ท่าเรือกรุงย่างกุ้ง