ความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์

ภาพรวม

ภาพรวม

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มิ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 24,123 view

๑.  ภาพรวม 

ไทยและเมียนมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๙๑ ปัจจุบัน ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทวิภาคีอยู่ในระดับดีมากทั้งในระดับรัฐบาล กองทัพ ภาคเอกชนและประชาชน โดยเมื่อปี ๒๕๖๑ ไทยและเมียนมาฉลองครบรอบ ๗๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และได้ยกระดับสถานะความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ” (Natural Strategic Partnership) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่มีความท้าทายและโอกาสในการส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน 

๒.  กลไกความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ

๒.๑ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Thailand-Myanmar Joint Commission on Bilateral Cooperation – JC) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วมโดยเมียนมาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JC ครั้งที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่กรุงเนปยีดอ และไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุม JC ครั้งที่ ๑๐ ที่ประเทศไทย 

๒.๒  คณะกรรมการระดับสูง (High-Level Committee – HLC) เป็นกลไกความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม HLC ครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒ ที่กรุงเทพฯ และเมียนมามีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุม HLC ครั้งที่ ๘          

๒.๓  คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee – RBC) มีแม่ทัพภาคที่ ๓ และผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการพิเศษที่ ๔ ของเมียนมาเป็นประธานร่วม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม RBC ครั้งที่ ๓๓ ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ ที่ จ.เพชรบูรณ์ และเมียนมามีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุม RBC ครั้งที่ ๓๔

๒.๔  คณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee – JBC) เป็นกลไกหารือประเด็นเขตแดนของสองประเทศ ฝ่ายไทยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ฝ่ายเมียนมามีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JBC ครั้งที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่กรุงเทพฯ

๒.๕  คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee – TBC) มีทั้งหมด ๕ แห่งตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา ได้แก่ (๑) อ.แม่สาย จ.เชียงราย (๒) อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน (๓) อ.แม่สอด จ.ตาก (๔) อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ (๕) อ.เมืองระนอง จ.ระนอง มีผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่เกี่ยวข้องของไทยและผู้บังคับกองพันที่เกี่ยวข้องของเมียนมาเป็นประธานร่วม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดนในระดับท้องถิ่น โดยสองฝ่ายมีการประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

๒.๖  กลไกด้านความร่วมมือการค้า ประกอบด้วย (๑) คณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Commission – JTC) โดยเมียนมาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ครั้งที่ ๗ ระหว่างวันที่ ๖ - ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ที่กรุงเนปยีดอ และ (๒) คณะกรรมการร่วมด้านการค้าชายแดน (Joint Committee on Border Trade – JBTC) โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JBTC ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๕ - ๖ กันยายน ๒๕๖๑ ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก

๓.  ความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคง

๓.๑  ที่ผ่านมา ผู้นำระดับสูงของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนการเยือนและหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เช่น นายวินมยิน ประธานาธิบดีเมียนมา ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ในช่วงพิธีฉลองความสำเร็จของการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่ง ๒ อ.แม่สอด จ.ตาก และเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ ที่กรุงเทพฯ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเมียนมา ระหว่างวันที่ ๗ - ๘ มีนาคม ๒๕๖๒ เพื่อหารือเรื่องสถานการณ์ในรัฐยะไข่ รวมทั้งยังได้พบหารือกับนายจ่อ ติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๒ ที่กรุงเทพฯ และได้พบหารือกับนายจ่อ ติ้น ส่วย รัฐมนตรีประจำสำนักที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๒ ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๔ ณ นครนิวยอร์ก

๓.๒  ไทยและเมียนมามีความร่วมมือทวิภาคีครอบคลุมทุกมิติและมีความคืบหน้าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปราบปรามยาเสพติด การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย การส่งเสริมการค้าการลงทุน หรือแม้แต่ประเด็นที่เคยเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในอดีต อาทิ (๑) เขตแดน ซึ่งที่ประชุม JBC ไทย - เมียนมา ครั้งที่ ๙ เห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือเพื่อสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และ (๒) การส่งผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา (ผภร.) กลับประเทศ โดยนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๙ จนถึงมีนาคม ๒๕๖๒ ไทยและเมียนมาได้ร่วมอำนวยความสะดวกการเดินทางของ ผภร. กลับเมียนมา แล้ว ๔ ครั้ง รวม ๑,๐๓๙ คน ซึ่งเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี

๓.๓  ไทยสนับสนุนเมียนมาในการปฏิรูปประเทศและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งเมียนมามีกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ การสร้างความปรองดองกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมกระบวนการสันติภาพของเมียนมา ตลอดจนการแก้ไขสถานการณ์รัฐยะไข่ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญของเมียนมา  ทั้งนี้ การดำเนินการของไทยในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสะดวกใจของเมียนมาเป็นสำคัญ

๔.  ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

๔.๑  การค้า  ในปี ๒๕๖๒ เมียนมาเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑๙ ของไทยในโลกและเป็นอันดับ ๗ ในอาเซียน โดยมีมูลค่ารวม ๗,๖๑๐.๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ ๐.๓๙) ซึ่งไทยเกินดุลการค้า ๑,๑๑๘.๓๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออก ๔,๓๖๔.๒๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า ๓,๒๔๕.๙๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น ๒ เท่าภายในปี ๒๕๖๕ (จากมูลค่าการค้าในปี ๒๕๖๐)

๔.๒ การลงทุน  ไทยได้รับอนุมัติการลงทุนจากทางการเมียนมา (Approved Amount) ตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ - ธันวาคม ๒๕๖๒ คิดเป็น ๑๑,๓๔๑.๙๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๖๖ ของการลงทุนสะสมจากต่างประเทศทั้งหมด ถือเป็นอันดับ ๓ รองจากสิงคโปร์และจีน โดยมีการลงทุนจริงแล้ว ๔,๑๙๐.๗๒๑๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (Existing Enterprise) คิดเป็นร้อยละ ๖.๑๗ ของการลงทุนจริงสะสมจากต่างประเทศทั้งหมด ถือเป็นอันดับ ๔ รองจากสิงคโปร์ จีนและฮ่องกง สาขาการลงทุนของไทยในเมียนมาที่สำคัญที่สุด คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ๕๕.๒๒ ของการลงทุนของไทยในเมียนมาทั้งหมด รองลงไป ได้แก่ ภาคการผลิต การขนส่งและสื่อสาร อสังหาริมทรัพย์การท่องเที่ยวและโรงแรม               

บริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทยที่ลงทุนในเมียนมา เช่น ปตท.สผ. (โครงการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลอันดามัน)  CP (ธุรกิจการเกษตรและอาหารแปรรูป)  SCG (ธุรกิจปูนซีเมนต์)  AMATA (การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมในกรุงย่างกุ้ง)  นอกจากนี้ ไทยยังเป็นนักลงทุนอันดับ ๒ รองจากสิงคโปร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (Thilawa Special Economic Zone – TSEZ) ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงย่างกุ้ง โดยมีบริษัทเอกชนของไทยดำเนินการอยู่มากกว่า ๑๕ บริษัท เช่น MILLCON STEEL PLC. (เหล็ก) INDORAMA VENTURES PLC. (พลาสติก) S.P. PETPACK CO., LTD (บรรจุภัณฑ์พลาสติก) และ Yangon Industrial Gas (Thilawa) (โรงแยกอากาศ) เป็นต้น

อนึ่ง ไทยและเมียนมามีความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑ และความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๔

๔.๓ การท่องเที่ยว  เมื่อปี ๒๕๖๑ ชาวเมียนมาเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยรวม ๓๖๘,๑๗๐ คน (สูงเป็นลำดับที่ ๒๑ เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น) และระหว่าง ม.ค. - ส.ค. ๒๕๖๒ มีชาวเมียนมาเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยรวม ๒๕๐,๑๗๐ คน (เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๑ ร้อยละ ๓.๗๑) โดยไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการจับจ่ายซื้อของและรักษาสุขภาพของชาวเมียนมาเมื่อปี ๒๕๖๒ ชาวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวเมียนมา รวม ๒๒๙,๘๕๒ คน เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๑ ร้อยละ ๒ โดยสูงเป็นลำดับที่ ๒ รองจากจีน ทั้งนี้ เมียนมาเป็นที่นิยมของชาวไทยในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนา วัฒนธรรม และธรรมชาติอันบริสุทธิ์

๔.๔  ด้านพลังงาน  ไทยและเมียนมามีกลไกคณะทำงานร่วมด้านพลังงานและไฟฟ้าไทย - เมียนมา ประเด็นความร่วมมือด้านพลังงานที่สำคัญ อาทิ ก๊าชธรรมชาติและเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ โดยไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา เพื่อนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าในไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๑๖ จากแหล่งผลิตสำคัญ คือ แหล่ง Yadana แหล่ง Yetagun และแหล่ง Zawtika  ขณะนี้ ปตท.สผ. เสนอโครงการลงทุน Gas to Power ขอสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มที่แหล่ง Zawtika ฝั่งตะวันตก เพื่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงไฟฟ้าที่กรุงย่างกุ้งเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

๕.  ความเชื่อมโยง

๕.๑  ไทยและเมียนมามีจุดผ่านแดนถาวร ๖ จุด ได้แก่ (๑) อ.แม่สาย จ.เชียงราย - จ.ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ณ สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา ข้ามแม่น้ำสาย แห่งที่ ๑ (๒) อ.แม่สาย จ.เชียงราย - จ.ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ณ สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา ข้ามแม่น้ำสาย แห่งที่ ๒ (๓) อ.แม่สอด จ.ตาก - จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ณ สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ ๑ (๔) อ.แม่สอด จ.ตาก - จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ณ สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ ๒ (๕) บ้านพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี - บ้านทิกิ ภาคตะนาวศรี และ (๖) อ.เมือง จ.ระนอง - จ.เกาะสอง ภาคตะนาวศรี นอกจากนี้ ไทยและเมียนมายังมีจุดผ่อนปรนพิเศษ ๑ จุด คือ ด่านสิงขร อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ - บ้านมอต่อง จ.มะริด ภาคตะนาวศรี จุดผ่านแดนชั่วคราว เพื่อการท่องเที่ยว) ๑ จุด คือ ด่านพระเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี - เมืองพญาตองซู รัฐกะเหรี่ยง และจุดผ่อนปรนการค้าชายแดน ๑๓ จุด ที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ. แม่ฮ่องสอน และ จ. ระนอง 

๕.๒  ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมตามแนวชายแดนเชื่อมโยงกับเมียนมา โดยเฉพาะตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East-West Economic Corridor – EWEC) และแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor – SEC) ตลอดจนถนนสามฝ่ายไทย - เมียนมา - อินเดีย (Trilateral Highway) ซึ่งเป็นช่องทางขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชนที่สำคัญของไทยและเมียนมารัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาถนนและสะพานในเมียนมาเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อจากเวียดนาม สปป.ลาว ไทย เมียนมา รวมทั้งจีนและอินเดีย                    

๕.๓ การพัฒนาเส้นทาง EWEC เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายญาณ ทุน รองประธานาธิบดีเมียนมาเป็นประธานร่วมในพิธีส่งมอบถนนช่วงเมืองเมียวดี - เชิงเขาตะนาวศรี - กอกะเร็ก ซึ่งเป็นความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพบหารือกับนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ได้เป็นประธานร่วมในพิธีฉลองความสำเร็จการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ ๒ ซึ่งรัฐบาลไทยให้การสนับสนุน เมื่อวันที่๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการก่อสร้างเมียนมาได้ร่วมลงนามในความตกลงว่าด้วยการบริหาร การบำรุงรักษา และการใช้สะพานฯ ที่กรุงเนปยีดอ และล่าสุด เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ ๒ อย่างเป็นทางการ 

๕.๔  การพัฒนาเส้นทาง SEC ที่ผ่านมา ไทยและเมียนมาได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone – DSEZ) เมืองทวายในภาคตะนาวศรี ซึ่งจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นประตูสู่ฝั่งทะเลอันดามันและเชื่อมโยงเข้ากับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) ตามแนวเส้นทาง SEC รัฐบาลไทยโดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) อยู่ระหว่างการปล่อยเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (soft loan) แก่รัฐบาลเมียนมาเพื่อก่อสร้างถนนจากชายแดนไทยที่ จ.กาญจนบุรีไปยัง DSEZ

๖.  ความร่วมมือด้านแรงงาน

๖.๑  ปัจจุบัน มีแรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศไทยประมาณ ๒.๔ ล้านคน โดยเป็นแรงงานที่ทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย จำนวน ๑.๙ ล้านคน ซึ่งไทยและเมียนมาได้ร่วมมือกันนำแรงงานเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ ล่าสุด ไทยอยู่ระหว่างการต่ออายุแรงงานต่างด้าว ๓ สัญชาติที่ระยะเวลาการอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยกำลังจะสิ้นสุดลง ให้มีการต่ออายุออกไปอีก ๒ ปีโดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยและเมียนมาพยายามส่งเสริมการนำเข้าแรงงานเมียนมาให้สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายตามความตกลงว่าด้วยการจ้างงานและบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน เพื่อให้แรงงานเมียนมาได้รับสิทธิ สวัสดิการ และการคุ้มครองตามกฎหมายไทยเช่นเดียวกับแรงงานไทย  

๖.๒  ความตกลงว่าด้วยการจ้างงานที่สองฝ่ายจัดทำร่วมกันเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙ หมดอายุลงเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ แต่ยังมีผลบังคับใช้ไปพลางก่อนระหว่างรอดำเนินการตามกระบวนการภายในเพื่อลงนามความตกลงฉบับใหม่ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงให้ปรับเพิ่มข้อกำหนดการตรวจสุขภาพและตรวจสอบประวัติอาชญากรรมแรงงานเมียนมาก่อนเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย และการสนับสนุนให้มีการจ้างงานในภาคการเกษตรในระยะสั้น (น้อยกว่า ๒ ปี) ในความตกลงฯ ฉบับใหม่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเมียนมาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง นำโดยอธิบดีกรมการจัดหางานและอธิบดีกรมแรงงานของเมียนมา และล่าสุด เมียนมาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับวิชาการไทย - เมียนมาด้านการจ้างแรงงานเมียนมาที่กรุงเนปยีดอ ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๔ มกราคม ๒๕๖๓

๗.  ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

๗.๑  ไทยส่งเสริมบทบาทการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับเมียนมาผ่านการดำเนินงานของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมสนับสนุนการพัฒนาประเทศและการปฏิรูปของเมียนมาในสาขาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศของเมียนมาและที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ ทั้งในรูปแบบของการให้ทุนฝึกอบรมและทุนการศึกษา การส่งอาสาสมัครเพื่อนไทย ตลอดจนการดำเนินโครงการพัฒนาในเมียนมา เช่น การพัฒนาแผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลทวาย การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในรัฐยะไข่ รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐคะยาและภาคตะนาวศรี ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมจัดทำแผน    การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาไทย - เมียนมา ระยะ ๓ ปี (ปี ๒๕๖๒ - ๒๕๖๔) ครอบคลุมสาขา (๑) การเกษตร (๒) การศึกษา (๓) สาธารณสุข (๔) การพัฒนาเศรษฐกิจและการเงิน และ (๕) การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

๗.๒  ที่ผ่านมา ไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาในกรณีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในเมียนมาเมื่อปี ๒๕๕๘ และสถานการณ์รัฐยะไข่ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาสถานการณ์รัฐยะไข่ทั้งในเมียนมาและบังกลาเทศ รวมแล้วมากกว่า ๓.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งการบริจาคเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ การดำเนินโครงการพัฒนา อาทิ โรงสีข้าวชุมชน ศูนย์พัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศูนย์สาธิตการเพาะเลี้ยงกุ้ง

๘.  สังคมและวัฒนธรรม

๘.๑  ไทยส่งเสริมความสัมพันธ์และสนับสนุนให้เกิดความใกล้ชิดและความเข้าใจอันดีระดับประชาชนผ่านการดำเนินโครงการสังคมและวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น การดำเนินโครงการหมู่บ้านคู่ขนานของกรมกิจการชายแดนทหาร การอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายที่วัดในเมียนมาของกระทรวงการต่างประเทศ การปรับปรุงวัดและโรงเรียนในอุปถัมภ์ของวัดฉิ่น ซะลูน พะยาจี (Shiz Zalun Phayagyi Monastery) เมืองทวายในภาคตะนาวศรี ดำเนินการโดยสมาคมไทย - พม่า เพื่อมิตรภาพ  

๘.๒  ไทยและเมียนมามีการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่น้องแล้ว ๔ คู่ ได้แก่ จ.เชียงใหม่กับเมืองเชียงตุง จ.ระนองกับเมืองเกาะสอง จ.ประจวบคีรีขันธ์กับเมืองมะริด และ จ.แม่ฮ่องสอนกับเมืองลอยก่อ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอยู่ระหว่างการผลักดันความสัมพันธ์เมืองพี่น้องคู่ใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ กรุงเทพฯ กับกรุงเนปยีดอ จ.กาญจนบุรีกับเมืองทวาย จ.ตากกับเมืองเมียวดี จ.เชียงรายกับเมืองท่าขี้เหล็ก และ จ.เชียงรายกับรัฐฉาน 

***************************

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓