131,470 view

มาตรการเดินทางเข้าเมียนมา

  • การขอวีซ่า

        วีซ่าท่องเที่ยว ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางทั่วไปที่จะเดินทางไปยังเมียนมาเพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการขอวีซ่า โดยสามารถพำนักในเมียนมาได้ไม่เกิน 14 วัน ทั้งนี้ หากต้องการท่องเที่ยวมากกว่า 14 วันจะต้องยื่นขอวีซ่าที่ https://evisa.moip.gov.mm/ โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและไม่แทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา รวมถึงไม่เดินทางไปยังพื้นที่หวงห้ามหากไม่ได้รับอนุญาต (พื้นที่หวงห้ามสำหรับชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวใน มม. http://www.mip.gov.mm/restricted-areas-for-foreigners-tourist-travelling-in-the-country/

        วีซ่าธุรกิจและวีซ่าอื่นๆ สามารถยื่นขอวีซ่าได้ที่ https://evisa.moip.gov.mm/ 

        ช่องทางการติดต่อสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย

                  ที่อยู่        110 ถนนสาทรเหนือ กรุงเทพฯ 10500

                  โทรศัพท์   02 233 2237, 02 233 7250, 02 234 4698, 02 237 7744

                  โทรสาร    02 236 6898, 02 233 7250

                  อีเมล์       [email protected] 

  • มาตรการเดินทางเข้าเมียนมา (มีผลบังคับใช้ตั้งเเต่วันที่ 1 มีนาคม 2567) 

        ผู้โดยสารจะจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งรวมถึงโควิด-19 ระหว่างที่พำนักอยู่ในเมียนมา และสามารถซื้อประกันจาก Myanma Insurance (https://www.mminsurance.gov.mm/) 

การเตรียมตัวก่อนการเดินทาง

  • ลงทะเบียนกับแผนกกงสุลของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง

        ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าเมียนมาในช่วงเวลานี้ โปรดแจ้งชื่อและที่อยู่แก่สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อหรือให้ความช่วยเหลือในกรณีจำเป็น โดยโปรดลงทะเบียนกับแผนกกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตฯ ผ่านลิ้งค์ shorturl.at/fiJ45 

  • การเตรียมพร้อมด้านร่างกาย

         ตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้ครบถ้วน ได้เเก่ (1) ไวรัสตับอักเสบชนิด A (2) ไทฟอยด์ (3) บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน โปลิโอ (4) ไข้สมองอักเสบ (5) พิษสุนัขบ้า (2 เข็ม) (6) โควิด-19 (หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด ต้องคำนวณระยะเวลาให้พอดี เพราะต้องฉีดวัคซีนอื่น ๆ ให้ครบโดสก่อน แล้วเว้น 1 เดือน จึงจะฉีดวัคซีนโควิดได้) และ (7) ไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ สามารถฉีดวัคซีนได้ที่คลีนิคเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจองคิวออนไลน์ล่วงหน้าได้ทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลฯ (https://www.thaitravelclinic.com/) ทั้งนี้ แพทย์จะให้คำแนะนำได้ว่าควรฉีดวัคซีนใดบ้าง โดยพิจารณาจากประเทศที่จะเดินทางไป

  • ระบบไฟฟ้าและการสื่อสาร

         ระบบโทรศัพท์ในเมียนมายังไม่เสถียรมากนัก การใช้งานระบบโรมมิ่งของโทรศัพท์มือถือจากประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ได้กับทุกเครือข่ายและจำกัดอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น ท่านที่ประสงค์จะใช้โทรศัพท์มือถือในเมียนมาควรซื้อซิมการ์ดท้องถิ่น นอกจากนี้ ไฟฟ้าในเมียนมายังดับบ่อยครั้งระหว่างวัน แต่โรงแรมชั้นนำทั่วไปในกรุงย่างกุ้งและเมืองใหญ่ต่าง ๆ มักจะมีเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ใช้ในกรณีกระแสไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ

  • ห้ามนำกัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา/กัญชงเข้าเมียนมา

         กฎหมายท้องถิ่นเมียนมากำหนดให้ (1) ผู้ใดเพาะปลูก ครอบครอง ขนส่ง หรือส่งผ่านมีโทษจำคุก 5-10 ปี และ (2) ผู้ใดกระจาย จำหน่าย นำเข้า และส่งออกมีโทษจำคุก 15 ปี หรือตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

 

การต่ออายุ Stay Permit

          เอกสารที่สำคัญที่จะต้องใช้ในการต่ออายุ Stay Permit คือหนังสือรับรองจากกระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม/วัตถุประสงค์ที่ท่านเข้ามาพำนักในเมียนมาว่ามาพำนักอาศัยในประเทศเมียนมา การต่ออายุ Stay Permit ก็จะต้องไปติดต่อกับหน่วยงานของประเทศเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของท่าน เพื่อรับหนังสือรับรองสำหรับนำไปยื่นต่อกองตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Department) เช่น หากมาทำธุรกิจการค้าก็จะต้องไปขอหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา หากมาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหรือโรงแรม ก็จะต้องไปขอหนังสือรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรมของเมียนมา สำหรับนักศึกษาต่างชาติก็ต้องขอหนังสือรับรองจากกระทรวงศึกษาของเมียนมา เป็นต้น

          ในการขอหนังสือรับรองจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง บริษัทนายจ้างจะต้องมาติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อขอเอกสารรับรองความเป็นคนไทย และขออำนวยความสะดวก ซึ่งบริษัทนายจ้างจะต้องนำเอาหนังสือเดินทางของคนไทยพร้อมสำเนา และหนังสือนำมายื่นต่อเจ้าหน้าที่กงสุล เพื่อออกหนังสือรับรองให้ต่อไป

          เอกสารที่ต้องใช้ในการต่ออายุ Stay Permit มีดังนี้

       1. หนังสือรับรองจากกระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

       2. หนังสือเดินทาง

       3. สำเนาหนังสือเดินทางหน้าที่มีการตรวจลงตราเข้าประเทศเมียนมา

       4. หนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ

       5. รูปถ่าย 3 ใบ พร้อมทั้งแบบคำร้อง

          เมื่อยื่นเอกสารครบตามที่กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งวันมารับ Stay Permit ต่อไป ปกติจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

 

การเดินทางสัญจรภายในเมียนมา

          การเดินทางระหว่างเมืองในเมียนมา หากเป็นเมืองที่ไม่ไกลจากกรุงย่างกุ้ง สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์ แต่สภาพรถ ทั้งรถประจำทาง และรถแท็กซี่ หรือรถตู้รับจ้าง มักจะมีสภาพเก่า และคนขับรถส่วนมากไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ การใช้บริการแท็กซี่มีอย่างแพร่หลายในกรุงย่างกุ้งและเมืองใหญ่ต่างๆ แต่ผู้โดยสารควรต่อรองราคา เนื่องจากรถแท็กซี่ทั่วไปจะไม่มีมิเตอร์ อีกทั้งสภาพถนนระหว่างเมืองต่างๆ ก็มีสภาพไม่ดีเป็นหลุม เป็นบ่อ โดยเฉพาะหน้าฝน นอกจากนี้ เมียนมามีรถไฟเชื่อมระหว่างจังหวัดที่สำคัญทั่วประเทศ ราคาถูก แต่ไม่สะดวกและใช้เวลาเดินทางนานมาก การเดินทางโดยสายการบินท้องถิ่นจึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว

          สำหรับการบินภายในประเทศจะสะดวกที่สุด แต่ตารางการบินอาจไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงเวลาทำการบินอย่างกะทันหันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยปกติ ผู้โดยสารควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นผิดเที่ยวบินเนื่องจากทุกเที่ยวบินภายในประเทศใช้ประตู (gate) เดียวกัน ในช่วงฤดูฝน หรือฤดูมรสุม อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเที่ยวบินบ่อยครั้งเนื่องจากระบบสนามบินในต่างจังหวัดไม่มีระบบนำร่องโดยเฉพาะในภาคใต้ของเมียนมา แต่สภาพของเครื่องบินและการบริการภายในเครื่องบินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

 

ข้อควรระวังในการพำนักอยู่ในเมียนมา

       1. ไม่ควรพูดคุยเรื่องทางการเมืองของเมียนมากับบุคคลทั่วไปที่ไม่รู้จักมักคุ้น

       2. ไม่ควรใส่กระโปรงสั้น หรือกางเกงขาสั้นในสถานที่สาธารณะ และในสถานที่สำคัญทางศาสนา

       3. ไม่ควรถ่ายรูปในบริเวณสนามบิน สถานีรถไฟ และสถานที่ราชการก่อนได้รับอนุญาต เมื่อจะถ่ายรูปชาวเมียนมาก็ควรขออนุญาตเช่นกัน

       4. ควรมีความสำรวมในวัดและศาสนสถาน ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น

       5. ระมัดระวังการพูดเชิงลบเกี่ยวกับประเทศหรือชาวเมียนมาในที่สาธารณะ เพราะมีชาวเมียนมาจำนวนมากที่เข้าใจภาษาไทยได้ดี

       6. เมียนมาได้เปลี่ยนชื่อประเทศแล้ว จึงไม่ควรใช้ชื่อเดิม (Burma) กับชาวเมียนมา

       7. ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพควรจัดเตรียมยาประจำตัวมาด้วย

       8. ควรระมัดระวังเลือกรับประทานอาหารและน้ำดื่มจากร้านที่สะอาดถูกสุขอนามัย โดยเฉพาะน้ำดื่ม ควรดื่มน้ำที่บรรจุในขวดปิดผนึกเรียบร้อย

       9. ทางการเมียนมาอาจห้ามชาวต่างชาติเดินทางไปยังบางเมืองหรือบางพื้นที่ หากประสงค์ที่จะเดินทางไปเมืองที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวของเมียนมา ควรตรวจสอบข้อมูลก่อน

 

การปฏิบัติตนเมื่อประสบปัญหา

          ในกรณีที่ท่านเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย หากท่านประสบเหตุในต่างประเทศ ท่านสามารถขอรับความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ทันที

กรณีที่ท่านถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายของเมียนมา

          ขอให้ท่านรีบติดต่อเจ้าหน้าที่กงสุล สถานเอกอัครราชทูตฯ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 09 5090926 โดยขอให้ท่านแจ้งข้อมูลดังต่อไปนี้กับเจ้าหน้าที่กงสุล

        1. ชื่อ นามสกุล หมายเลขหนังสือเดินทาง

        2. วันที่เดินทางถึง และวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาเมียนมา ชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของนายจ้าง (หากมี)

        3. วัน เวลา และสถานที่ที่ถูกจับกุม โรงพักที่ท่านจะถูกนำตัวไปสอบสวน

        4. ข้อหา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการถูกจับกุมโดยย่อ

        5. ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของญาติในประเทศไทย

          สถานเอกอัครราชทูตฯ จะส่งเจ้าหน้าที่กงสุล และล่ามเดินทางไปดูแลความเป็นอยู่ และให้ความช่วยเหลือแก่ท่านตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนดในทันที

กรณีที่ท่านเป็นผู้เคราะห์ร้าย

          ขอให้ท่านรีบขอรับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่กงสุล  โดยเดินทางมาด้วยตนเอง (หากสามารถทำได้) โดยนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาแสดง อาทิ หนังสือเดินทาง ใบแจ้งความจากสถานีตำรวจพร้อมคำแปลภาษาอังกฤษ และแจ้งความประสงค์ในการขอรับความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตฯ (อาทิ ขอเดินทางกลับประเทศ ขอให้ติดต่อญาติในประเทศไทย) ซึ่งเจ้าหน้าที่กงสุลจะตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับ เพื่อหาทางช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป

กรณีอยู่เกินกว่าที่การตรวจลงตรากำหนดไว้

          หากท่านพำนักอยู่ในเมียนมานานเกิดกว่าที่กฎหมายกำหนด จะถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายการเข้าเมืองของเมียนมา ซึ่งหากท่านอยู่เกินกำหนดไม่เกิน 2 สัปดาห์ ท่านสามารถชำระค่าปรับในอัตราวันละ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ที่ท่าอากาศยานกรุงย่างกุ้งก่อนเดินทางออกจากเมียนมา แต่หากอยู่เกินกำหนดมากกว่า 2 สัปดาห์  ท่านอาจจะต้องชำระค่าปรับที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงย่างกุ้ง หรือในบางกรณีท่านอาจถูกจับกุมได้

          กรณีการตรวจลงตราหมดอายุ หรือเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย  ท่านสามารถขอรับความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ทันที และควรหมั่นตรวจสอบอายุการตรวจลงตรา เพราะหากการตรวจลงตราหมดอายุท่านอาจถูกปรับ จำคุก และ/หรือเนรเทศกลับประเทศไทยได้

 

บทลงโทษในความผิดบางประการของเมียนมา

        1. คดียาเสพติด  หากมีไว้เสพ ศาลจะพิพากษาจำคุกระหว่าง 7 - 15 ปี

        2. หากมีไว้จำหน่าย ศาลจะพิพากษาประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

        3. คดีประมง ศาลจะพิพากษาจำคุกระหว่าง 7 - 10 ปี   (ไต้ก๋งเรือจะถูกจำคุกนานกว่าลูกเรือธรรมดา) และเสียค่าปรับอีกจำนวนหนึ่ง

        4. คดีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ศาลจะพิพากษาจำคุก 1 - 3 ปี

        5. คดีอาวุธปืน ศาลจะพิพากษาจำคุกระหว่าง 2 - 12 ปี