ภาพรวม

ภาพรวม

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 392 view

1. ภาพรวม

1.1 ความร่วมมือทางวิชาการไทย-เมียนมาร์ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2531 เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระชับและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในแน่นแฟ้น เนื่องจากเป็นการดำเนินงานความร่วมมือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย โดยเน้นสาขาความร่วมมือที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับความต้องการของฝ่ายเมียนมาร์ (demand driven approach) ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ทั้งในระดับรัฐบาลและระดับประชาชน

1.2 ความร่วมมือที่ไทยให้แก่เมียนมาร์ในปัจจุบันอยู่ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ทุนการศึกษา ทุนฝึกอบรม/ดูงาน แผนงาน/โครงการต่างๆ การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญ และการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ โดยเน้น 3 สาขาหลัก ได้แก่ เกษตร การศึกษา และสาธารณสุข ซึ่งมีการดำเนินงานทั้งในกรอบความร่วมมือทวิภาคี ไตรภาคี กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค (เช่น GMS ACMECS) ทุนศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ (TIPP) และทุนฝึกอบรมนานาชาติ (AITC) 

1.3 สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยประสานงานหลักในการดำเนินงานความร่วมมือทางวิชาการที่ให้แก่เมียนมาร์ โดยผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง 

1.4 นับตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน มีชาวเมียนมาร์ได้รับทุนการศึกษา ดูงานและฝึกอบรม จำนวนมากกว่า 1,200 ราย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

2. การดำเนินงานความร่วมมือไทย-เมียนมาร์ในกรอบต่างๆ

2.1 ความร่วมมือทวิภาคี มีการประชุมความร่วมมือทางวิชาการประจำปี ไทย-เมียนมาร์ เป็นกลไกในการทบทวน ติดตามผลการดำเนินงาน และจัดทำแผนงานความร่วมมือในอนาคต โดยแผนงานความร่วมมือทวิภาคี ประกอบด้วยทุนการศึกษา ทุนฝึกอบรม/ดูงาน และโครงการความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่

     (1) โครงการพัฒนาหลักสูตรภาษาไทยที่ Yangon University of Foreign Languages (YUFL)
    
     (2) โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์พัฒนาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์
    
     (3) โครงการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลท่าขี้เหล็ก
 
     (4) แผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการพยากรณ์อากาศ ระบบการเตือนภัยและฟื้นฟูภาคอิระวดีและภาคย่างกุ้ง

     (5) แผนงานสาขาเกษตร 3 ปี ภายใต้หัวข้อ “Food Security”

     (6) แผนงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

2.2 ทุนฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses : AITC) เป็นทุนฝึกอบรมระยะสั้นในลักษณะแข่งขัน โดยการคัดเลือกจะพิจารณาตามคุณสมบัติของผู้สมัครจากประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ (ซึ่งรวมถึงเมียนมาร์) ซึ่งในแต่ละปีจะมีการจัดอบรมประมาณ 15-20 หลักสูตรในสาขาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานด้านการพัฒนาและเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจ เช่น การเกษตรแบบยั่งยืน สิ่งแวดล้อม อนามัยแม่และเด็ก เป็นต้น

2.3 ทุนศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ (Thai International Postgraduate Programme : TIPP) เป็นทุนศึกษาระดับปริญญาโทในหลักสูตรนานาชาติ ณ สถาบันการศึกษาของไทย โดยเป็นทุนในลักษณะแข่งขัน โดยการคัดเลือกจะพิจารณาตามคุณสมบัติของผู้สมัครจากประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ (ซึ่งรวมถึงเมียนมาร์)

2.4 ความร่วมมือไตรภาคี เป็นกรอบความร่วมมือสามฝ่าย โดยรัฐบาลไทยร่วมกับประเทศผู้บริจาคต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น (JICA) สิงคโปร์ (ในกรอบ CSEP) ฝรั่งเศส (AMFA) และ UN ให้ความร่วมมือแก่รัฐบาลเมียนมาร์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของทุนฝึกอบรมระยะสั้นในสาขาที่ทั้งสามฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน

2.5 ความร่วมมือในกรอบภูมิภาค/อนุภูมิภาค เช่น GMS, ACMECS และ BIMSTEC

          - ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือที่รัฐบาลไทยเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อยกระดับการพัฒนาและความมั่งคั่งของประเทศในอนุภูมิภาค ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนอีกทางหนึ่งด้วย โดยในปี 2546 รัฐบาลไทยประกาศการสนับสนุนทุน จำนวน 100 ทุน ให้แก่กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม ทั้งทุนฝึกอบรมระยะสั้น และทุนศึกษาระดับปริญญาโท

          - ไทยเป็นผู้ประสานงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบความร่วมมือ GMS และ BIMSTEC โดยกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการให้ทุนฝึกอบรมระยะสั้นในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศในภูมิภาค

2.6 ความร่วมมือทวิภาคีอื่นๆ ได้แก่

              (1) ความร่วมมือสันถวไมตรี ศาสนาและวัฒนธรรม เน้นกิจกรรมที่กระชับและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน เช่น การจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม งานการกุศลเพื่อบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบูรณะซ่อมแซมถาวรวัตถุและสิ่งก่อสร้างที่สำคัญของเมียนมาร์ และการจัดซื้อสิ่งของและสนับสนุนการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่แสดงออกทางด้านความผูกพันทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อมอบให้แก่เมียนมาร์ในโอกาสสำคัญ เช่น การฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต

             (2) กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม  ให้ความร่วมมือในการพัฒนา/ก่อสร้าง/ซ่อมแซมถนนและสะพานในรูปแบบให้เปล่า อาทิ สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 1 ที่จังหวัดตาก (104.6 ล้านบาท) สะพานข้ามแม่น้ำสาย แห่งที่ 2 (39 ล้านบาท)  ถนนสายเมียวดี - เชิงเขาตะนาวศรี (122.9 ล้านบาท)  และถนนและสะพานเชื่อมโยงแม่สอด/เมียวดี - เชิงเขาตะนาวศรี - กอกะเร็ก ตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจในอนุภูมิภาค (งบประมาณ 1,166 ล้านบาท)

            (3) ความร่วมมือของสถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัยของไทย

                   รัฐบาลไทยมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (Education Hub) ในภูมิภาค ประกอบกับสถาบันการศึกษาต่างๆ มีความตื่นตัวในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนและขยายเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น  ทำให้มีสถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัยหลายแห่งของไทยได้ริเริ่มและดำเนินโครงการให้ทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกแก่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เช่น

                   (4.1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          - โครงการทุนการศึกษาประเทศเพื่อนบ้านในระดับปริญญาโท หลักสูตรสหสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หลักสูตรนานาชาติ ปีการศึกษา 2555 ของคณะรัฐศาสตร์ (Master of Art Programme in Southeast Asian Studies (International Programme) under the Chulalongkorn University’s Scholarship Programme for Neighbouring Countries)

          - โครงการทุนการศึกษาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระดับปริญญาโท Master of Arts in International Development Studies (MAIDS) ของคณะรัฐศาสตร์

          - ทุนศึกษาระดับปริญญาเอกในหลักสูตร Petrochemical Technology ภายใต้ International Master and Doctoral Programme in Petroleum Technology, Petrochemical Technology and Polymer Science ของวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี

                 (4.2) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          - โครงการ Fellowships for Myanmar’s Researches : Understanding Myanmar’s Development ของคณะสังคมศาสตร์

                (4.3) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

          - โครงการ 1 คณะ 1 ทุน เพื่อให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวนรวม 11 ทุน แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยเริ่มปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไป

3. แนวโน้มความร่วมมือในอนาคต

         เป้าหมายสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาร์ระหว่างปี 2555-2558 จะเน้น (1) การดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเมียนมาร์ในการเป็นเจ้าภาพ SEA Games ครั้งที่ 27 และการฉลองครบรอบ 65 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เมียนมาร์ในปี 2556  (2) การเป็นประธานอาเซียนของเมียนมาร์ในปี 2557 และ (3) การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558  ควบคู่ไปกับการริเริ่มและสานต่อกิจกรรมความร่วมมือในมิติต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่เมียนมาร์ให้ความสำคัญ และตอบสนองยุทธศาสตร์ของไทย ตลอดจนผลักดันการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันและวางรากฐานความร่วมมือสำหรับอนาคต โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ โดยอาศัย soft power ทุกด้านของไทย ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้พื้นฐานความสัมพันธ์อันดี สร้างช่องทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินความสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสร้างโอกาสสำหรับการส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจในเมียนมาร์ ตลอดจนดำเนินการเพื่อให้เมียนมาร์มีความศรัทธาเชื่อมั่นในระบบบริหารจัดการต่าง ๆ ของไทย แล้วเลือกที่จะนำไปปรับใช้เป็นแบบอย่างเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาว