3,561 view

ประวัติทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง

          หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมัยที่ ฯพณฯ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยได้ส่งผู้แทนสามท่านคือ พระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) หัวหน้าคณะ นายตุล บุนนาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ ม.ล.ปีกทิพย์ มาลากุล ผู้แทนฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศมาร่วมงานวันฉลองเอกราชของสหภาพเมียนมาในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๘) ตามคำเชิญของรัฐบาลสหภาพเมียนมา ซึ่งมี อู นุ เป็นนายกรัฐมนตรี ในการเยือนครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีของไทยได้มอบนโยบายให้ทั้งสามท่านเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพเมียนมาด้วย ดังนั้น ไทยจึงเริ่มแสวงหาสถานที่เพื่อเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง โดยพบบ้านเลขที่ ๙๑ แห่งนี้ ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ทรงทิวดอร์มีเนื้อที่ ๒.๔๕๓ เอเคอร์ (หรือประมาณ ๗ ไร่) ตั้งอยู่หัวมุมถนนชิ้พและติดต่อกับถนนโปรม (Prome) ซึ่งเป็นบ้านพักของนาย De Souza เชื้อชาติโปรตุเกส สัญชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นคหบดีที่เป็นตัวแทนนำเข้ายาชนิดต่าง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายทั่วเมียนมาในสมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

          คณะผู้แทนรัฐบาลไทยเห็นว่า บ้านหลังนี้มีความเหมาะสมจึงได้ตกลงทำสัญญาวางมัดจำกันชั่วคราวกับผู้แทนของเจ้าของบ้าน (ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เริ่มมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเมียนมาจะยึดกิจการของคนต่างชาติมาเป็นของรัฐ) โดยมีพระยาอภิบาลราชไมตรี เป็นผู้ร่างสัญญา และให้นางรำไพ มะลิวัลย์ และนายเรวัต ลักษณกร เป็นผู้ดูแลสถานที่ จนกระทั่ง ม.ล.ปีกทิพย์ มาลากุล เดินทางมาลงนามในสัญญาซื้อขายกันเป็นทางการ ณ ศาลสหภาพเมียนมา ต่อจากนั้นประมาณ ๑ ปี ม.ล.ปีกทิพย์ มาลากุล พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายสุนทร สุวรรณสาร นายสุบรรณ เศวตมาลย์ และนายสนั่น นาถประชา เดินทางมาเตรียมเปิดบ้านหลังนี้เพื่อใช้เป็นที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง

          ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้มีการทำพิธีทางพุทธศาสนาเพื่อเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาหน้าสถานเอกอัครราชทูต โดยมี ฯพณฯ นายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธี โดยมี ม.ล. ปีกทิพย์ มาลากุล ดำรงตำแหน่งอุปทูต บ้านหลังนี้จึงเป็นทั้งสถานที่ทำงานและที่พำนักของเอกอัครราชทูตฯ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

          ต่อมากระทรวงการต่างประเทศได้ดำริให้ทำการซ่อมแซมบ้านหลังนี้เพื่อใช้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูตเป็นการเฉพาะ โดยเริ่มงานบูรณะซ่อมแซมระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ในช่วงที่นายปกศักดิ์ นิลอุบล ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ฯพณฯ ดร. อำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำพิธีเปิดทำเนียบเอกอัครราชทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙

          ส่วนที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ไปเช่าอาคารต่าง ๆ สามแห่ง และในที่สุดรัฐบาลได้อนุมัติให้ก่อสร้างที่ทำการถาวรในที่ดินด้านหลังบ้านหลังนี้จนแล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ในช่วงที่นายบรรสาน บุนนาค ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ที่ทำการแห่งใหม่เป็นอาคาร ๓ ชั้น และในวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ฯพณฯ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนสหภาพเมียนมาอย่างเป็นทางการและเป็นประธานเปิดอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ ให้เป็นถาวรสถานอันเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาสืบไป

          “บ้าน” ซึ่งปัจจุบันคือ “ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง” หลังนี้จึงถือเป็นอาคารสำคัญที่ดำรงอยู่คู่กับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เมียนมามาตั้งแต่เริ่มต้น อีกทั้งยังเป็นสถานที่จารึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การทูตของทั้งสองประเทศตลอดมา ที่สำคัญที่สุดคือการที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ หลังนี้ได้เคยใช้เป็นสถานที่จัดงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ประธานาธิบดีเมียนมาและภริยา และงานสโมสรสันนิบาต เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

          ด้วยเหตุที่สถานที่นี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การทูตไทย อีกทั้งยังมีความงดงามและคุณค่าทางด้านศิลปสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดี เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ในช่วงที่นายพิษณุ สุวรรณะชฎ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้ประกาศให้ “ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง” รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๗ ประเภท “อาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ” เพื่อประกาศเกียรติคุณให้แก่ความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์อาคารสถานที่ให้เป็นมรดกของชาติ และให้บ้านหลังนี้ดำรงอยู่คู่กับการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาตลอดไป