วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
การแต่งงานกับชาวเมียนมาร์
การจดทะเบียนสมรส
ท่านที่มีความประสงค์จะจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ ท่านสามารถกระทำได้ โดยมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่กงสุล พร้อมคู่สมรส พยาน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เมื่อเจ้าหน้าที่กงสุลตรวจสอบคุณสมบัติของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยแล้ว ก็สามารถจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากันได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
การจดทะเบียนสมรสกับคนไทย หรือกับชาวต่างชาติอื่นๆ คู่สมรสทั้งสองฝ่ายจะต้องนำหลักฐานดังต่อไปนี้มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่กงสุล
1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง
2. ใบรับรองความเป็นโสด หากเป็นภาษาอื่นที่มิใช่ภาษาไทยจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ และได้รับการรับรองคำแปลจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศนั้นๆ
3. เอกสารการยินยอมให้ทำการสมรสจากบิดา มารดา ในกรณีที่เป็นผู้เยาว์
4. เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเจ้าหน้าที่กงสุลได้ตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติของคู่สมรสว่าไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยแล้ว นายทะเบียนจะทำการจดทะเบียนสมรสให้ ทั้งนี้ นายทะเบียนจะบันทึกข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายในเรื่องต่างๆ อาทิ การแบ่งทรัพย์สิน การใช้คำนำหน้าชื่อ หรือการใช้นามสกุลลงในด้านหลังของทะเบียนสมรสเอาไว้ด้วย
การจดทะเบียนสมรสกับชาวเมียนมาร์มีความแตกต่างจากการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนไทยด้วยกัน หรือคนไทยกับคนชาติอื่นๆ กล่าวคือ กรณีที่ผู้ชายเมียนมาร์จดทะเบียนสมรสกับผู้หญิงไทย สามารถใช้หลักฐานต่างๆ ในการขอจดทะเบียนสมรสได้เช่นเดียวกับการจดทะเบียนสมรสของคนไทย หรือคนชาติอื่น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ศาลสูงของเมียนมาร์ได้มีคำสั่งลงวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 ห้ามมิให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมียนมาร์ทำการจดทะเบียนสมรสระหว่างชาวต่างชาติกับผู้หญิงเมียนมาร์โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการค้าหญิงข้ามชาติ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ หน่วยราชการของเมียนมาร์จะไม่สามารถออกหนังสือรับรองความเป็นโสดให้แก่ผู้หญิงเมียนมาร์ เพื่อนำไปใช้จดทะเบียนสมรสได้ หรือหากหน่วยงานท้องถิ่นออกหนังสือรับรองความเป็นโสดให้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ก็จะไม่รับรองคำแปลให้ ซึ่งก็จะไม่สามารถนำมาใช้ประกอบการขอจดทะเบียนสมรสได้เช่นกัน
หมายเหตุ การจดทะเบียนสมรส จะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีสถานะเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายไทยเท่านั้น หากจะให้มีสถานะเป็นสามีภรรยาตามกฎหมายของประเทศคู่สมรส จะต้องไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ อีกครั้งหนึ่ง