ธุรกิจ
ธุรกิจ
วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ส.ค. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ภาพรวมเศรษฐกิจ
รัฐบาลใหม่ของเมียนมาร์ภายใต้การนำของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ได้มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะพัฒนาเศรษฐกิจในเมียนมาร์อย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นไปตามสุนทรพจน์ที่ ประธานาธิบดีเต็ง เส่งได้กล่าวในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ ๓๐ มี.ค. ๕๔ กล่าวคือ ๑) ปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้เป็นระบบตลาดอย่างแท้จริง ๒) มุ่งให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจส่งผลถึงประชาชนระดับรากหญ้า ลดความเหลื่อมล้ำของคนจนและคนรวย ขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท ๒) การปฏิรูประบบเศรษฐกิจมหภาค ทั้งการค้า การลงทุน การเงิน การธนาคาร ๒) เร่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมโดยให้ภาคการเกษตรเป็นพื้นฐาน โดยจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อ GDP ๓) ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ๔) จูงใจต่างชาติให้ลงทุนในเมียนมาร์มากขึ้น และจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่างๆ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ ก.ค. ๕๕ ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ได้แถลงนโยบายว่า ตั้งแต่ ปี ๕๕ รัฐบาลจะเดินหน้าสู่การปฏิรูปช่วงที่ ๒ โดยจะให้ความสำคัญต่อประเด็นต่างๆ ดังนี้ ๑) การจัดทำ National Plan ระยะเวลา ๕ ปี ๒) ให้ความสำคัญต่อภาคการค้าและการลงทุน รวมถึงการระดมการลงทุนระหว่างประเทศ ๓) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ๔) การบริหารจัดการความช่วยเหลือจากต่างชาติให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจทั่วไป ปัจจุบันเมียนมาร์มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) ประมาณ ๔๕,๒๐๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีรายได้ต่อประชากร (GDP per head at PPP) ประมาณ ๓,๕๖๓ ดอลลาร์สหรัฐ IMF ประเมินว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ เมียนมาร์ของ ปีงบประมาณ ๕๔/๕๕ (๑ เม.ย. ๕๔- ๓๑ มี.ค. ๕๕) อยู่ที่ร้อยละ ๕.๕ และจะเพิ่มเป็นร้อยละ ๖ ในปีงบประมาณ ๕๕/๕๖ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรของประชาคมระหว่างประเทศ คาดว่าเมียนมาร์จะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รุดหน้าขึ้น ส่วน Economic Intelligence Unit ประเมินว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ ๕๖/๕๗ จะอยู่ที่ร้อยละ ๖.๔ และจะมีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ ๔.๒ ในปีงบประมาณ ๕๔/๕๕ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๕.๘ ในปีงบประมาณ ๕๕/๕๖