ธุรกิจ
ธุรกิจ
วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ส.ค. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ท่าทีของประชาคมระหว่างประเทศ
สืบเนื่องจากที่เมียนมาร์ได้มีพลวัตการพัฒนาในด้านการเมืองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ได้เข้ารับหน้าที่เมื่อเดือน มี.ค. ๕๔ ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศได้ปรับท่าทีและนโยบายต่อเมียนมาร์ เช่น
๑. สหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ค. ๕๕ สหรัฐฯ ได้ดำเนินการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมาร์ โดย ๑) อนุญาตให้บริษัทสัญชาติอเมริกันลงทุนในเมียนมาร์ได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ ห้ามลงทุนในด้านที่เกี่ยวกับกิจการทางการทหาร ห้ามดำเนินธุรกิจกับหน่วยงานที่มีฝ่ายทหารถือครองเกินกว่าร้อยละ ๕๐ รวมถึงกิจการของบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรการคว่ำบาตร และ ๒) อนุญาตให้มีการส่งออกบริการด้านการเงินไปเมียนมาร์ แต่ได้เปิดโอกาสให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถยกเลิกการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวได้ด้วย
เมื่อวันที่ ๒ ส.ค. ๕๕ รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ต่ออายุการห้ามนำเข้าสินค้าจากเมียนมาร์ต่อไปอีกหนึ่งปี โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาสามารถยกเลิกมาตรการดังกล่าวได้หากการปฏิรูปในเมียนมาร์สอดคล้องกับเงื่อนไขของสหรัฐฯ
ในระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เมื่อเดือน ก.ย. ๕๕ สหรัฐอเมริกาได้ประกาศที่จะดำเนินการเพื่อปรับความสัมพันธ์ด้านธุรกิจของสองประเทศให้อยู่ในระดับปกติ โดยเดินหน้ากระบวนการผ่อนปรนมาตรการการห้ามนำเข้าสินค้าจากเมียนมาร์ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
เมื่อวันที่ ๑๖ พ.ย. ๕๕ สหรัฐอเมริกาประกาศยกเลิกมาตรการห้ามการนำเข้าสินค้าจากเมียนมาร์ (ยกเว้นอัญมณีหยกและทับทิม) ซึ่งเป็นการประกาศก่อนหน้าการเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีบารัค โอบามา
๒. สหภาพยุโรป
เมื่อวันที่ ๒๓ เม.ย. ๕๕ สหภาพยุโรปได้ประกาศระงับมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาร์ทั้งหมด ยกเว้นการค้าอาวุธ และหวังว่า จะหารือเกี่ยวกับกระบวนการด้านนิติบัญญัติในการคืนสิทธิ Generalised System of Preferences (GSP) ในอนาคตได้ต่อไป
๓. ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นและเมียนมาร์ได้ยุติปัญหาหนี้ค้างชำระแล้ว และญี่ปุ่นจะเพิ่มความช่วยเหลือแก่ เมียนมาร์มากขึ้น โดยจะให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และความร่วมมือทางเทคนิค
๔. ออสเตรเลีย
ออสเตรเลียยกลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและการเดินทาง รวมถึงเพิ่มความช่วยเหลือแก่เมียนมาร์
๕. องค์การระหว่างประเทศอื่นๆ
World Bank และ Asian Development Bank (ADB) ได้เปิดสำนักงานที่กรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ ๑ ส.ค. ๕๕ โดย World Bank จะให้เงินกู้จำนวน ๘๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปในเมียนมาร์ ส่วน IMF ได้ให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำเชิงเทคนิคในด้านการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนกับเมียนมาร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ World Bank จะร่วมมือกับ IMF เพื่อวิเคราะห์และจัดการกับปัญหาหนี้ค้างชำระที่เมียนมาร์ติดค้างกับ World Bank, IMF และ ADB
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2012/07/11/statement-president-easing-sanctions-burma