การปฏิรูปด้านการเงินการธนาคาร

การปฏิรูปด้านการเงินการธนาคาร

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ส.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 10,310 view

การปฏิรูปด้านการเงินการธนาคาร

การเงิน

          แต่เดิมรัฐบาลเมียนมาร์ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนทางการไว้ที่ประมาณ ๖ จั๊ต/๑ ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายในตลาดเมื่อปี ๕๓ – ๕๔ ผันผวนอยู่ที่ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๘๐๐ จั๊ต/๑ ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น รัฐบาลเมียนมาร์จึงให้ความสำคัญต่อการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นอัตราเดียว โดยได้หารือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IMF World Bank และ ADB ในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอัตราเดียว และเมื่อวันที่ ๑ เม.ย. ๕๕ รัฐบาลเมียนมาร์ได้ประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ (managed floating rate regime) ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนจะถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของตลาด โดยเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางเมียนมาร์สามารถแทรกแซงได้ ทั้งนี้ ธนาคารกลางเมียนมาร์จะให้ธนาคารเอกชนเมียนมาร์เจรจาอัตราแลกเปลี่ยนทุกวันเพื่อกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิง และจะอนุญาตให้มีการซื้อขายเงินสกุลต่างชาติภายในกรอบแคบๆ ของอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดังกล่าว นอกจากนี้รัฐบาลเมียนมาร์ประกาศว่าจะดำเนินการกำจัดอุปสรรคด้านการชำระเงินและโอนเงินระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วย

          นอกจากนี้ เมียนมาร์โดยความร่วมมือกับ World Bank อยู่ระหว่างการจัดทำ the Master Plan for Monetary Development เพื่อกำหนดนโยบายด้านการเงินการธนาคาร ล่าสุดได้มีการออกกฎหมาย Foreign Currency Exchange Regulation Law แล้ว   

 

การธนาคาร

ธนาคารท้องถิ่น

          ปัจจุบันเมียนมาร์จัดตั้งธนาคารของรัฐทั้งหมด ๔ แห่ง ได้แก่ Myanmar Foreign Trade Bank (MFTB), Myanmar Investment and Commercial Bank (MICB), Myanmar Economic Bank (MEB) และ Myanmar Agriculture and Development Bank (MADB) ทั้งนี้ เมื่อปี ๕๒-๕๓ เมียนมาร์ได้ดำเนินนโยบายการแปรรูปกิจการครั้งใหญ่ รวมถึงภาคการธนาคารด้วย โดยปัจจุบันมีธนาคารเอกชนท้องถิ่นทั้งหมด ๑๙ ธนาคาร

          แต่เดิมรัฐบาลเมียนมาร์อนุญาตให้เฉพาะธนาคารของรัฐบาลเท่านั้นที่สามารถทำธุรกรรมด้านสกุลเงินต่างประเทศได้ แต่เมื่อกลางเดือน ก.ค. ๕๕ ธนาคารกลางเมียนมาร์ได้อนุญาตให้ธนาคาร Co-operative Bank ซึ่งเป็นธนาคารเอกชนเมียนมาร์สามารถรับฝากบัญชีเป็นเงินสกุลต่างชาติได้ ทั้งนี้ ได้ จำกัดบุคคล/นิติบุคคลที่จะเปิดบัญชีดังกล่าวกับ Co-operative Bank ได้ ซึ่งได้แก่ องค์กรภาครัฐ กิจการที่มีรัฐถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่

ธนาคารต่างชาติ

          ๑) ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับธนาคารกลางเมียนมาร์

                   เมื่อวันที่ ๑๙ มิ.ย. ๕๕ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางเมียนมาร์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ มีสาระส่งเสริมความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือด้านเทคนิค เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธนาคารกลางเมียนมาร์ และพัฒนาศักยภาพขององค์กรและบุคลากร

          ๒) การเปิดสำนักงานผู้แทนของธนาคารต่างชาติ

เพื่อให้มีการพัฒนาศักยภาพของธนาคารท้องถิ่น พร้อมๆ ไปกับการเปิดเสรีด้านการธนาคารให้มากขึ้น เพื่อรองรับการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียนในปี ๕๘ รัฐบาลเมียนมาร์จึงได้มุ่งหมายที่จะดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

ก. การอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเป็นสำนักงานผู้แทนในเมียนมาร์ แต่ยังไม่สามารถทำธุรกรรมทางด้านการเงินได้ โดยธนาคารไทยที่จะจัดตั้งสำนักงานผู้แทนในเมียนมาร์ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

ข. การส่งเสริมให้ธนาคารต่างชาติจัดตั้ง Joint Venture ร่วมกับธนาคารท้องถิ่น

ค. รัฐบาลเมียนมาร์จะอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติดำเนินธุรกรรมเต็มรูปแบบในเมียนมาร์ได้ คาดว่าอาจเป็นภายในปี ๕๘

          ๓) การอำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมการโอนเงินกลับประเทศของแรงงานเมียนมาร์ในต่างประเทศ

                    แม้ว่าในปัจจุบัน รัฐบาลเมียนมาร์จะยังไม่อนุญาตให้ธนาคารต่างชาติดำเนินธุรกรรมในเมียนมาร์ได้ แต่ได้อนุญาตให้ธนาคารของประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานเมียนมาร์อาศัยอยู่ร่วมมือกับธนาคารท้องถิ่นในการโอนเงินของแรงงานเมียนมาร์กลับสู่ประเทศ ในส่วนของไทย ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับธนาคาร Asia Green Development และธนาคารไทยพาณิชย์ได้ร่วมมือกับธนาคาร Kanbawza ในการอำนวยความสะดวกด้านการโอนเงินในลักษณะดังกล่าว

 

ตลาดทุน

          เมียนมาร์กำลังพัฒนาตลาดทุน โดยได้จัดตั้ง Capital Market Development Committee (ปี ๕๑) และได้จัดทำแผนงาน ๓ ขั้นตอน เพื่อมุ่งไปสู่การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ภายในปี ๕๘ และกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ Security Dealing Law ด้วย โดยเมียนมาร์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับ Daiwa Institute of Research Ltd. และ Tokyo Stock Exchange Group, Inc. เกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อการสนับสนุนการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ในเมียนมาร์ นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้หารือกับธนาคารกลางเมียนมาร์ รวมถึงจัดการฝึกอบรมให้กับบุคลากรของธนาคารกลางเมียนมาร์อย่างสม่ำเสมอ และกำลังเจรจาร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม:

www.cbm.gov.mm

http://www.imf.org/external/np/sec/pr/2012/pr1225.htm

www.set.or.th

www.ktb.go.th

www.bangkokbank.com

www.kasikornbank.com และ www.scb.co.th