การปฏิรูปด้านการลงทุน

การปฏิรูปด้านการลงทุน

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ส.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 10,451 view

การปฏิรูปด้านการลงทุน

ภาพรวมการลงทุน

          การลงทุนสะสมจากต่างประเทศในเมียนมาร์ (ตั้งแต่ ปี ๓๑- มิ.ย. ๕๕) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น ๔๑,๐๒๙.๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศที่ลงทุนในเมียนมาร์สูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ จีน (คิดเป็นร้อยละ ๓๔.๔๗ ของมูลค่าการลงทุนสะสมทั้งหมด) ไทย (คิดเป็นร้อยละ ๒๓.๓๒ ของมูลค่าการลงทุนสะสมทั้งหมด) ตามด้วยฮ่องกง (คิดเป็นร้อยละ ๑๕.๕๓ ของมูลค่าการลงทุนสะสมทั้งหมด) ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศในปีงบประมาณ ๕๓ (๑ เมษายน ๕๓ ถึง ๓๑ มีนาคม ๕๔) สูงมากเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เมียนมาร์เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในปี ๓๑ โดยมีมูลค่าสูงถึงกว่า ๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นจากปีงบประมาณ ๕๒ ถึง ๕๙ เท่า การลงทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ในภาคพลังงานไฟฟ้า (ร้อยละ ๔๖.๔๗) รองลงมา ได้แก่ ภาคน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ ๓๔.๕๗) ภาคเหมืองแร่ (ร้อยละ ๖.๘๖)

 

การพัฒนาศักยภาพด้านการลงทุน

          เมียนมาร์ได้จัดตั้ง Myanmar Investment Commission (MIC) เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการลงทุน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นเลขานุการ เมียนมาร์ได้พัฒนาศักยภาพ MIC โดยได้ดำเนินการให้การบริการด้านการจดทะเบียนบริษัท รวมถึงการให้แนะนำด้านการลงทุนในลักษณะ one stop service และ   เมียนมาร์กำลังปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนต่างๆ ได้แก่

          ๑)  กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Law –FIL)

เมื่อวันที่ ๒ พ.ย. ๕๕ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ลงนามในกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่แล้ว มีสาระสำคัญที่ให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติ อาทิ

- สามารถดำเนินกิจการ ๑๐๐ % หรือจัดตั้งบริษัทร่วมกับนักลงทุนท้องถิ่น (joint venture) ในสัดส่วนที่ตามแต่จะตกลงกันไว้

- ไม่ระบุเงินลงทุนขั้นต่ำ

- สาขาที่จำกัดการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ กิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ที่สงวนไว้สำหรับคนท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนต่างชาติประสงค์ประกอบกิจการในสาขาที่จำกัดไว้ สามารถยื่นเรื่องต่อ Myanmar Investment Commission เพื่อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาอนุมัติได้

- ยกเว้นภาษี ๕ ปีแรก และสามารถได้รับการลดหย่อนภาษีตามรูปแบบของการลงทุนที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อเมียนมาร์

- สามารถเช่าที่ดินได้จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

- สามารถโอนเงินผลกำไรหลังหักภาษีไปต่างประเทศได้

- จะต้องจัดจ้างแรงงานมีฝีมือชาวเมียนมาร์เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้

สามารถสืบค้น คำแปลอย่างไม่เป็นทางการของ กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ ฉบับวันที่ ๒ พ.ย. ๒๐๑๒ ได้ที่นี่ (คลิกที่นี่)

๒)  กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone Law)

     เมื่อเดือน ม.ค. ๕๔ รัฐบาลเมียนมาร์ได้ออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone Law) และกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายทั้งสองฉบับ

๓)  การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม

     ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Development Committee) เพื่อดูแลด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน และสร้างงานให้กับประชาชนในรัฐต่างๆ รัฐบาลเมียนมาร์ได้จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมในรัฐกะเหรี่ยง และกำลังอยู่ระหว่างจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมในรัฐมอญ และรัฐยะไข่

 

ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านการลงทุนในเมียนมาร์

http://www.dica.gov.mm/investmentguide.htm