การปฏิรูปด้านการค้า

การปฏิรูปด้านการค้า

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ส.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,956 view

การปฏิรูปด้านการค้า

ภาพรวมการค้าระหว่างไทยและเมียนมาร์

การค้าระหว่างประเทศของเมียนมาร์ส่วนใหญ่เป็นการค้ากับประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเมียนมาร์ส่งออกสินค้าไปในภูมิภาคเอเชียคิดเป็นร้อยละ ๗๐ ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และเมียนมาร์นำเข้าสินค้าจากภูมิภาคเอเชียคิดเป็นร้อยละ ๙๐ ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างไทยและเมียนมาร์นั้น ในปี ๕๔ การค้ารวมระหว่างไทยและเมียนมาร์มีมูลค่าประมาณ ๖,๓๓๑.๗๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ ๒๙.๕๗ โดยไทยส่งออกไปเมียนมาร์คิดเป็นมูลค่า ๒,๘๔๕.๙๒ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้าจากเมียนมาร์คิดเป็นมูลค่า ๓,๔๘๕.๘๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ไทยเสียเปรียบดุลการค้าต่อเมียนมาร์ ๖๓๙.๘๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ ๑ ของเมียนมาร์ ซึ่งร้อยละ ๙๐ ของการค้าระหว่างไทยและเมียนมาร์เป็นการค้าผ่านทางชายแดน โดยมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาร์คิดเป็นลำดับ ๒ รองจากจีนในขณะที่เมียนมาร์เป็นคู่ค้าลำดับที่ ๖ ของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน

สำหรับช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. ๕๕ การค้ารวมระหว่างไทยและเมียนมาร์มีมูลค่า ๓,๐๕๓.๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ ๘.๒๓ โดยไทยส่งออกไปเมียนมาร์ ๑,๕๔๖.๑๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเมียนมาร์ ๑,๕๐๗.๐๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป (ร้อยละ ๑๕.๕) เครื่องดื่ม (ร้อยละ ๑๐.๗) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักรกล (ร้อยละ ๗) ปูนซีเมนต์ (ร้อยละ ๕.๑๑) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ ๔.๑๗) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ ๔.๑๑) เป็นต้น 

สินค้านำเข้าหลักของไทย ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ ๙๑) ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ ๒.๙) เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค (ร้อยละ ๑.๔๓) เป็นต้น

 

การปฏิรูปด้านการค้าระหว่างประเทศ

          แต่เดิมเมียนมาร์ได้ดำเนินนโยบาย export first-import later system กล่าวคือ ผู้นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ โดยระบุวงเงินที่สามารถนำเข้าได้เท่ากับมูลค่าเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการส่งออก เพื่อให้เกิดการค้าสมดุลที่สุด ทำให้ผู้นำเข้าต้องซื้อบัญชีเงินตราต่างประเทศจากผู้ส่งออกต้องซื้อบัญชีเงินตราต่างประเทศจากผู้ส่งออกที่ระบุวงเงินเท่ากับมูลค่าสินค้าที่ได้ส่งออกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ พ.ค. ๕๓ รัฐบาลเมียนมาร์ได้ผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวลง โดยนอกจากจะซื้อบัญชีเงินตราต่างประเทศจากผู้ส่งออกแล้ว ผู้นำเข้าสามารถนำรายได้จากการดำเนินธุรกิจในประเทศมาเป็นแหล่งทุนในการนำเข้าสินค้า ส่งผลให้ผู้นำเข้าสามารถสั่งซื้อสินค้าในวงเงินที่เพิ่มขึ้น และรัฐบาลเมียนมาร์ได้ลดขั้นตอนการทำธุรกรรมต่างประเทศ โดยสามารถออกใบอนุญาตส่งออกและนำเข้าได้รวดเร็วขึ้น

          นอกจากนี้ เมียนมาร์ได้ดำเนินนโยบายผ่อนปรนมาตรการด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการส่งออก อาทิ ยกเว้นภาษีรายได้ที่เก็บจากเอกชนที่ดำเนินการภายใต้ระบบ Cutting, Making and Packing (เช่น บริษัทผลิตเสื้อผ้าเพื่อการส่งออก) และรับรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ จากเดิมร้อยละ ๑๐ เป็นร้อยละ ๐ และลดหย่อนภาษีการค้าที่เก็บจากสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ข้าว ถั่ว ข้าวโพด งา ยาง สินค้าประมง ไม้ไผ่ สินค้ามูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นต้น รวมถึงอนุญาตให้นำเข้าและส่งออกสินค้าหลากหลายรายการมากขึ้น นอกจากนี้ ได้พัฒนาศักยภาพของหน่วยงานด้านการอำนวยความสะดวกด้านการค้า

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

www.commerce.gov.mm